เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment : WEEE) หรือที่เรารู้จักกันว่า e-waste กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปริมาณการบริโภคที่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่เรายังไม่มีระบบการเก็บหรือเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เหมาะสม จึงนำไปสู่ปัญหา การปนเปื้อนของสารเคมีและโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรง
กลุ่มบริษัทบี ปิโตรไทย ได้ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยคุณกิจจา จำนงค์อาษา หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
โดยนำเสนอ โมเดลวงจรชีวิต
ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดกลไกการกำกับดูแล
กระบวนการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันอันตรายจาก
สารพิษโลหะหนักของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ควบคู่กับหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ให้ผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยลดการใช้สารอันตรายและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ อันเป็นการสนับสนุนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
ควรมีการแยกระบบ และวิธีจัดการซากผลิตภัณฑ์ เป็น 2 ประเภท เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ และ มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระแก่ภาครัฐ และผู้ประกอบการจนเกินควร
ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ เป็นกลไกสำคัญในการขนส่งไปยังโรงงานกำจัดซากผลิตภัณฑ์ ดังนั้น รัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดกลไก และกำกับดูแล ทั้งในระดับปฏิบัติการ ส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ฯด้วย
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน การดำเนินการแก้ไขควรเป็นไปอย่างจริงจัง โดยความร่วมมือและการประสานจุดแข็งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสารเคมีอันตราย อย่างสารตะกั่วและโลหะหนัก ย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศน์ และท้ายสุดคือโลกของเรา